ฟันคุดสามารถเป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของเหงือก การติดเชื้อ เป็ยฝี ส่งผลให้ฟันซี่ข้างเคียงสามารถผุได้
การถอนฟัน
ในกรณีที่ ทันตแพทย์ทำหัตถการถอนฟันนั้น โดยส่วนใหญ่คุณ GP ของเรามักจะพิจารณาจากการถอนฟันทั่วไปที่คุนไข้ไม่ประสงค์จะเก็บแล้วอันเนื่องมาจากการปวด ฟันที่เหลือแต่ราก ฯลฯ และฟันคุดที่ไม่ยากมากหรือถูกส่งมาถอนเพื่อการจัดฟัน ถ้าในรายที่ยากๆ ทันตแพทย์จะแนะนำให้ส่งต่อคุณหมอเฉพาะทางของสาขาศัลยแพทย์ช่องปาก (Surgeon)
วิธีการถอนฟันทำอย่างไร
ก่อนที่จะทำการถอนฟัน
ทันตแพทย์จะตรวจประวัติทางการแพทย์และประวัติทางทันตกรรมอย่างถี่ถ้วน และจะทำการเอ็กซ์เรย์ฟัน การเอ็กซ์เรย์จะทำให้เห็นถึงความยาว รูปร่างและตำแหน่งของฟันและกระดูกบริเวณรอบๆ ฟัน จากข้อมูลที่ได้ ทันตแพทย์จะสามารถประมาณระดับความยุ่งยากของกระบวนการการถอนฟัน และตัดสินใจว่าจะส่งตัวคนไข้ไปหาผู้เชี่ยวชาญ หรือ ศัลยแพทย์ช่องปาก หรือไม่ ก่อนทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณรอบๆ ฟันที่จะถูกถอน สำหรับการถอนฟันตามปกติธรรมดา เมื่อบริเวณที่จะถอนฟันเกิดอาการชาแล้ว ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องแซะในการทำให้ฟันหลวมจากเหงือก จากนั้นทันตแพทย์จะถอนฟันออกมาด้วยคีมถอนฟัน ทันตแพทย์อาจจะต้องปรับสภาพกระดูกที่อยู่ด้านล่างให้มีความ เรียบเนียนขึ้น เมื่อทันตแพทย์ทำการถอนฟันเสร็จสิ้นแล้ว ทันตแพทย์อาจจะทำการปิดแผลด้วยการเย็บแผล
ฟันคุด
ฟันคุดคืออะไร...
ฟันคุด คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 - 25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่น ๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยแต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย
จะทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุด จากการตรวจในช่องปาก ถ้าพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าน่าจะมีฟันคุด เพื่อให้แน่ใจก็ควรจะเอกซเรย์ดู ก็จะทำให้ทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งไหนบ้าง การเอกซเรย์ฟันจะช่วยให้เห็นทิศทางการฝังคุดของฟันและเห็นอวัยวะข้างเคียง ฟันคุดอาจเป็นฟันคุดตั้งตรง ฟันคุดเอียงๆ หรืออาจฝังคุดในแนวนอน ซึ่งการผ่าออก มีความยากง่ายแตกต่างกัน
ทำไมถึงต้องผ่าฟันคุด
การผ่าตัดฟันคุดมีจุดประสงค์หลายประการ ได้แก่
1. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบอาจลุกลามไปที่แก้ม ใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้
2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ ทำให้ฟันคุดและฟันซี่ข้างๆผุได้ทั้งสองซี่
3. เพื่อลดอาการปวดจากแรงดันของฟัน ฟันคุดที่ขึ้นไม่ได้แต่พยายามดันตัวขึ้นมาจะทำให้เกิดอาการปวดได้
4.เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก ในบริเวณซอกฟันที่มีเศษอาหารติดนอกจากทำให้เกิดฟันผุได้แล้ว คราบอาหารคราบจุลินทรีย์ที่สะสมรอบๆฟันคุดจะทำให้เหงือกอักเสบ ถ้าคราบสะสมนานๆจนกลายเป็นหินปูนจะทำให้กระดูกบริเวณนี้ถูกทำลาย ฟันซี่ข้างๆโยก ปวดได้
5. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น
6. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
7. วัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น ในการจัดฟัน
สรุปขั้นตอนการทำงานผ่าตัดฟันคุด
• หมอ x – ray
• หมอวัดความดัน / ทานยา
• หมอฉีดยาชา
• หมอเปิดแฟลบ ( flap )
• หมอกรอแบ่งฟัน
• หมอดึงซี่ฟันออก
• หมอล้างแผล / ใส่เจลห้ามเลือด
• หมอเย็บแผล
• นัดตัดไหม 7 วัน
ปัญหาแทรกซ้อนหลังการผ่าฟันคุด
ที่พบบ่อยคืออาการปวดและบวม อาการบวม เกิดจากการอักเสบและมีเลือดคั่งในแผลและเนื้อเยื่อ ซึ่งโดยทั่วไปจะยุบลงใน 3-4 วัน ในกรณีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทันตแพทย์จะให้ทานยาปฏิชีวนะประมาณ 5 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการอ้าปากได้น้อย ปัญหาการติดเชื้อหลังการผ่าตัดพบได้เนื่องจากการดูแลแผลในปากอาจทำได้ลำบาก บางครั้งมีเศษอาหารตกลงไปในแผลทำให้เกิดการหมักหมมและติดเชื้อตามมา ผู้ป่วยบางรายที่ฟันคุดอยู่ในตำแหน่งที่ลึกและใกล้เส้นประสาทในกระดูกขากรรไกรล่างอาจมีอาการชาบริเวณริมฝีปาก เนื่องจากเส้นประสาทดังกล่าวได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถถามได้จากทันตแพทย์
คำแนะนำหลังการถอนฟันและ/หรือถอนฟันคุด
หลังการถอนฟัน
ลิ่มเลือดจะถูกสร้างขึ้นในบริเวณฟันที่ถูกถอนโดยลิ่มเลือดนี้มีความสำคัญต่อขั้นตอนการสมานตัวของแผล ระยะเวลาโดยทั่วไปในการสมานแผลคือ 1-2 สัปดาห์ ส่วนแผลบริเวณเนื้อเยื่อเหงือกใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ และการสมานแผลเข้ากับกระดูกอาจยาวนานถึง 6-8 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาของคนไข้
การปฏิบัติตามขั้นตอนที่แนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้ลดอาการเจ็บปวดและช่วยเรื่องขั้นตอนการสมานแผลได้ดีขึ้น
1. การฉีดยาชาทำให้ริมฝีปากและลิ้นรู้สึกชาประมาณ 2-3 ชั่วโมงหลังจากการนัดหมายกับทันตแพทย์ หลีกเลี่ยงการดื่มของร้อนและการขบเคี้ยวจนกว่าอาการชาจะหายไปเพื่อป้องกันการขบกัดหรืออาการลิ้น,กระพุ้งแก้มและริมฝีปากพองจากการรับประทานของร้อน
2. ห้ามใช้ลิ้นดุนหรือใช้นิ้วหรืออุปกรณ์อื่นๆคุ้ยแคะบริเวณที่ถูกถอนฟัน
3. รับประทานอาหารอ่อนหรือใช้ฟันด้านตรงข้ามกับที่ถอนฟันเคี้ยวอาหารในระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังจากถอนฟัน
4. ห้ามบ้วนน้ำลายหรือใช้หลอดดูดน้ำ
5. ในกรณีที่เลือดไหล ให้หนอนหนุนหมอนสูงเพื่อบังคับการไหลเวียนของเลือด คนไข้จะได้รับผ้ากอซเพื่อหยุดเลือดที่แผล โดยควรกัดผ้ากอซเบาๆเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ระหว่างที่กัดผ้ากอซ ควรกลืนน้ำลายลงคอ ไม่ควรบ้วนน้ำลายหรือเปลี่ยนผ้ากอซด้วยตัวเองเพราะอาจทำให้วางผ้ากอซผิดตำแหน่ง ควรกัดผ้ากอซจนกระทั่งเลือดหยุดไหล ควรเอาผ้ากอซออกขณะรับประทานอาหาร หากยังคงมีเลือดไหลหลังจาก 2 ชั่วโมง ให้กัดผ้ากอซต่ออีก 1 ชั่วโมง ถ้ายังคงมีเลือดไหลหลังจากนี้ ควรรีบมาพบแพทย์
6. ในกรณีที่มีอาการปวดบวมหลังจากการผ่าตัด ช่วง 48 ชั่วโมงแรกให้ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการเป็นเวลา 20 นาทีและพัก 20 นาที ทำซ้ำจนกว่าอาการจะดีขึ้น หลังจาก 48 ชั่วโมงให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุกๆ 2 ชั่วโมงเพื่อช่วยให้แผลสมานตัวได้ดี (ส่วนผสมน้ำเกลือ : เกลือ 1 ช้อนชา ต่อ น้ำอุ่น 8 ออนซ์)
7. ในกรณีที่มีอาการเจ็บฟันหรือปวดฟัน ควรรับประทานยาที่ทันตแพทย์สั่งให้อย่างเคร่งครัด รับประทานยาแก้ปวดก่อนยาชาจะหมดฤทธิ์และรับประทานติดกันต่อทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการเจ็บปวด ในกรณีที่ได้รับยาแก้อักเสบ ควรรับประทานยาให้หมดชุด
8. การสูบบุหรี่การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือการบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อการเสมานแผลบริเวณที่ถอนฟันและอาจทำให้เกิดอาการกระดูกเบ้าฟันแห้ง(dry socket)ซึ่งจะปวดมากในสัปดาห์แรก ถ้าเกิดอาการเช่นนี้ขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที
9. การรักษาความสะอาดบริเวณที่ถอนฟันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อและช่วยสมานแผลให้เร็วขึ้น ห้ามแปรงบริเวณแผลถอนฟันในช่วง 3-4 วันแรกหลังจากถอนฟัน เพื่อป้องกันลิ่มเลือดหลุด ควรทำความสะอาดบริเวณที่ถอนฟันโดยใช้ผ้ากอซสะอาดชุบน้ำเช็ดบริเวณแผลด้วยความระมัดระวัง หลังจากเช็ดบริเวณแผลแล้วให้แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันรอบบริเวณนั้นอย่างเบามือ
10.หลังการถอนฟัน แผลอาจถูกเย็บด้วยไหมละลาย โดยปกติจะใช้เวลา 45-60 วันหรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนไข้แต่ละคน หากแผลไม่มีอาการปวดบวมและมีการสมานแปลดี สามารถรื้อไหมออกหลังจากเย็บแผล 14 วัน